ปฐมบท PCU ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ปฐมบท PCU ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

           ปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ใต้อาคารสาธารณสุขเพื่อการพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้มีการเปิดให้บริการเป็น “ศูนย์สุขภาพชุมชน” เพื่อให้บริการทางด้านสุขภาพแก่นักศึกษา อาจารย์ และประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่บริการ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่  22 กุมภาพันธ์ 2562 นับเป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ ปีงบประมาณ 2562  สถานบริการแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า PCU หลายคนคงสงสัยว่าแล้ว PCU คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร มีรากฐานแนวคิดมาจากไหน มีประโยชน์อย่างไร และที่สำคัญคือบทบาทหน้าที่ ขอบเขตการให้บริการครอบคลุมในงานอะไรบ้าง ทำหน้าเหมือนโรงพยาบาลไหม ฯลฯ ครับ วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าความเป็นมาเป็นไปของ PCU ให้ทุกท่านได้รับรู้ รับทราบ ความเป็นมาของ PCU

          PCU เป็นชื่อย่อที่มาจากภาษาอังกฤษจากคำว่า “Primary Care Unit” หรือ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” หรือ “ศูนย์สุขภาพชุมชน” การประกาศให้มีการจัดตั้ง PCU นั้น เป็นผลมาจากการประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2544 และต่อมาได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรใน พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545 ประวัติความเป็นมากว่าจะมาเป็น PCU นั้น มีมีพัฒนาการมามากกว่า 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2485 เมื่อมีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ได้รับโอน “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดและอำเภอใหญ่ๆมาปรับให้เป็น“โรงพยาบาลประจำจังหวัด” และ “โรงพยาบาลอำเภอ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้ปรับ“สุขศาลาชั้นสอง” ให้เป็น “สถานีอนามัยชั้นสอง” และต่อมาเรียกชื่อว่า “สถานีอนามัย” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปี 2552 ได้ปรับมาเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ในกรณีที่ยกฐานะมาจากสถานีอนามัยเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. ตั้งแต่ปี 2545 ก็ได้มีการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ PCU ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่มีบางแห่งเป็น PCU หรือ ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในกรณี PCU ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นั้น ถือเป็น PCU ที่จัดตั้งขึ้นจากหน่วยงานอื่นนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่มีศักยภาพ และมีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  นอกจากนี้ก็มี PCU อีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชนภายใต้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหลายแห่งเกิดขึ้นจากภาคเอกชน ที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้

         สำหรับความหมายและนิยามของ PCU นั้นมีผู้ให้นิยามไว้ค่อนข้างที่จะหลากหลายมิติ ทั้งมิติของการให้บริการ มิติของการบริหารจัดการ มิติเชิงปรัชญา อาทิเช่น เป็นสถานบริการด่านแรก (First Line Care) หรือ สถานบริการด่านหน้า (Front line care)  หรือ เป็นสถานบริการระดับต้น (Primary Care) หรือ สถานบริการเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Practice) หรือ สถานบริการครอบครัว (Family Service) เป็นต้น ซึ่งในความหมายที่มีหลากหลายมิติ ก็สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือPCU เป็นการจัดบริการขั้นพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนและตั้งอยู่ในพื้นที่ๆ มีความใกล้ชิดกับชุมชน โดยให้การดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน อย่างไรก็ตามความหมายของ PCU อย่างเป็นทางการที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ พ.ศ. 2558 ให้นิยามไว้ว่า

        “หน่วยบริการปฐมภูมิ” หมายถึง สถานบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ ซึ่งสามารถจัดบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิได้อย่างเป็นองค์รวม ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยผู้มีสิทธิของหน่วยบริการประจำดังกล่าวสามารถใช้บริการสาธารณสุข ณ หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ ทั้งนี้หน่วยบริการปฐมภูมิมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการประจำหรือจากกองทุน ตามที่คณะกรรมการกำหนด”

          มาถึงตรงนี้เราได้รู้จัก PCU มาพอสังเขปแล้วในแง่มุมพื้นฐานทั่วไป แต่ยังมีเรื่องราวของ PCU อีกหลายประเด็นและหลายแง่มุม ที่จะมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งทางผู้เขียนจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังอีกในบทความฉบับต่อไป สำหรับการเปิดให้บริการของ PCU มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในปัจจุบัน เปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 12.00 น. โดยปัจจุบันมีศักยภาพในการให้บริการครอบคลุม ดังนี้

          1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย ครอบคลุมการตรวจคัดกรองสุขภาพ การตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง การเยี่ยมบ้าน (Home Visit) และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care) การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการในระดับบุคคลและครอบครัว

          2. บริการการตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพเบื้องต้น ให้บริการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุ หรือฉุกเฉิน ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส และมีลักษณะการจัดบริการดูแลกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นองค์รวมได้ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม (Holistic Care) จัดระบบการส่งต่อ และรับกลับ เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร บริการกรณีอุบัติเหตุ หรือฉุกเฉิน ในเวลาบริการ และจัดให้ระบบการทบทวน ประเมินผลการให้บริการ และพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง

          3. บริการทันตกรรม มีบริการด้านรักษา เช่น การถอนฟัน ผ่าฟันคุด การอุดฟัน การขูดหินน้ำลาย การรักษารากฟันเด็ก เป็นต้น ในกรณีเป็นผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถและศักยภาพ มีระบบส่งต่อไปยังโรงพพยาบาล ๕๐พรรษา มหาวชิราลงกรณ์

          4. บริการเยี่ยมบ้าน และบริการเชิงรุก ได้แก่ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำคัญและจัดทำทะเบียน ได้แก่ หญิงตั้งครรค์ หญิงหลังคลอด เด็ก ผู้รับบริการที่ขาดนัด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ที่ต้องได้รับบริการต่อเนื่อง ฯลฯ

          5. บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือบริการตรวจทางเทคนิคการแพทย์   ได้แก่ Hematocrit,   Urine sugar/albumin, Urine pregnancy test, การตรวจน้ำตาลจากปลายนิ้ว โดยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา, มีระบบการส่งต่อที่มีคุณภาพ

          บทสรุป การจัดตั้ง PCU ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ขึ้นมา เพื่อให้บริการขั้นปฐมภูมิแก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนในพื้นที่ใกล้ๆมหาวิทยาลัย ถือเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นทางด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีทุกภาคส่วนได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันของประชาชนชาวไทยในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพ  ส่งท้ายในบทความแรก คือ ความท้าทายของการพัฒนา PCU ให้มีบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ให้บริการครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกลักษณะของการบริการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกๆฝ่ายต่อไป แล้วกลับมาเจอกันใหม่ในบทความต่อไปครับ

อาจารย์ ดร.เด่นพงษ์ วงศ์วิจิตร                             
อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์

บรรณานุกรม
1. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ. PCU Management ประสบการณ์การจัดการหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ.
    สิงหาคม 2550.
ISBN 978-974-8388-77-9
2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. แนวทางการตรวจประเมินตามเกณฑ์ขึ้นทะเบียน “หน่วยบริการ
    ปฐมภูมิ”.
ฉบับที่ 04 วันที่ 15 มิถุนายน 2555
3.  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545. 4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ พ.ศ. 2558.

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •